Thursday, June 26, 2008

รายงานการบริจาคครั้งแรก และ สถานการณ์โดยรวมในสถานที่ประสบภัยนาร์กีส

เราเปลี่ยนไปใช้รถส่งของบริจาคเป็นขนาดยาว 14 ฟุตแทน เนื่องจาก รถบรรทุกของหนัก 40 ตัน มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะขึ้นสะพานบางอันได้ ดังนั้นเราจึงใช้รถบรรทุกขนาดเล็กเพื่อส่งของบริจาคไปยังเมืองย่างกุ้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2551

เมื่อไปถึงที่ วัดจอซาน เมืองโบกะเล เราเปลี่ยนไปลงเรือเล็กและมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับบริจาค ในวันถัดมา วันที่ 3 มิถุนายน 2551 เราตื่นตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกาเพื่อเตรียมตัวออกจากพื้นที่ไปยังบริเวณที่ห่างไกลกว่าเดิม แต่ด้วยของบริจาคที่เราต้องเตรียมเป็นจำนวนมาก จึงใช้เวลาถึง 7 นาฬิกากว่าจะออกจากพื้นที่ได้ นอกจากนี้ ขณะเดินทางฝนตกหนักตลอดเวลาเป็นอุปสรรคตลอดการเดินทางเพื่อไปบริจาคสิ่งของครั้งนี้

เราหยุดที่หมู่บ้านใหญ่หลายหมู่บ้าน และได้บริจาคสิ่งของ ยา ให้แก่ชาวบ้าน ในขณะเดียวกันเราก็เก็บรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดในบริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นเราพยายามเข้าไปหลายพื้นที่และบริจาคสิ่งของเพิ่มเติม แต่เนื่องจากมีเวลาไม่เพียงพอ เราจึงไม่สามารถหยุดในหมู่บ้านเล็กๆเพื่อบริจาคของ แต่ใช้การโยน ยา และอาหารลงจากเรือให้แทน

จากนี้ ผมจะรายงานสถานการณ์โดยรวมในสถานที่ประสบภัยนาร์กีส โดยแบ่งตามหัวข้อต่อไปนี้

อาหารและความเป็นอยู่
ตอนนี้เหยื่อจากไซโคลนนาร์กีสอาศัยสิ่งของที่ได้รับจากผู้บริจาคเอกชนในการดำรงชีพ ในบางหมู่บ้าน ชาวบ้านที่ประสบภัยอยู่ได้ด้วยการตกปลาตามแม่น้ำที่มีศพลอยเกลื่อน ในขณะที่บางหมู่บ้านไม่สามารถเพาะปลูกบนฟาร์มของตนได้เนื่องจากน้ำเค็มทะลักเข้ามาและทำลายพื้นที่ทางการเกษตร ชาวบ้านเหล่านี้จึงอาศัยสิ่งของบริจาคเป็นหลักในการดำรงชีวิต สำหรับที่อยู่ ผู้ประสบภัยอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวดังที่เห็นในรูป บางคนใช้ผืนผ้าใบที่ได้จากองค์กรUNICEF องค์กร WFP และผู้บริจาค เป็นหลังคามุงในการอยู่อาศัย ในหมู่บ้านส่วนใหญ่ที่เราไปเราพบแต่ผู้ใหญ่อาศัยอยู่ เมื่อเราสอบถามดู ชาวบ้านจึงได้อธิบายให้ฟังว่า เด็กส่วนใหญ่นั้นเสียชีวิตไปกับพายุที่พัดเข้ามา นอกจากนี้ เรายังพบการติดเชื้อที่ผิวหนังในเหยื่อบางราย ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าการติดเชื้อดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจาก ฝนกรด อุปกรณ์ทางเคมีจากเรือยุทธนาวีที่ถูกทำลายโดยพายุ หรือ การอุปโภคบริโภคน้ำที่เป็นพิษจากศพที่ลอยเกลื่อนในแม่น้ำ

สถานการณ์ปัจจุบัน และในอนาคต
เพื่อความมั่นคงในระยะยาวนั้น เราเห็นความจำเป็นที่ชาวบ้านควรจะสามารถทำงานในฟาร์มเหมือนแต่ก่อนได้ ปัจจุบัน ชาวบ้านในหมู่บ้านกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนโดยใช้วิธีการชั่วคราวอย่าง การตกปลา ในการดำรงชีวิต เหตุผลหลักที่ทำให้การทำฟาร์มนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก คือ ควายเป็นจำนวนมากล้มตายลง นอกจากนั้น เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆถูกทำลาย

สภาพการศึกษา
SPDC สั่งให้มีการเลื่อนวันเปิดโรงเรียนในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ไปเป็นเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ในการซ่อมแซมโรงเรียนที่พังยับเยินให้เสร็จภายในเวลา 1 เดือน การเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆจึงน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะ เด็กส่วนใหญ่เสียชีวิตจากพายุไซโคลนนาร์กีส และบางครอบครัวยังคงดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดโดยไม่สามารถส่งลูกของตัวเองไปโรงเรียนที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงได้

สิ่งที่ต้องการอย่างเร่งด่วน
ข้าวและน้ำดื่มเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับชาวบ้าน นอกจากนี้ แผ่นผ้าใบ และ อาหารสำเร็จรูปก็เป็นสิ่งที่ต้องการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน เราพบว่าไม่มีใครใส่รองเท้าเลย เท้าของคนเหล่านี้เต็มไปด้วยบาดแผล จึงเห็นว่ารองเท้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการ ดังนั้นเราสามารถสรุปสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมีดังนี้

(1) ข้าว และ เมล็ดพันธุ์พืชสำหรับการเพาะปลูกบนฟาร์ม
(2) น้ำดื่ม
(3) แผ่นผ้าใบพลาสติก (tarpaulins)
(4) อาหารสำเร็จรูป น้ำมันพืชสำหรับทำอาการ เกลือ หัวหอม ฯลฯ

ชาวบ้านทุกคนอาศัยอยู่ด้วยกันในตึกหนึ่งๆ หรือไม่ก็ใช้ใบไม้ที่ส่วนใหญ่ถูกทำลายโดยฝนกรด เป็นที่กำบังตนเองแทนหลังคา

สถานการณ์การเข้าถึงแหล่งน้ำ
ก่อนที่จะเกิดเหตุภัยพิบัตินาร์กีส ทุกๆหมู่บ้านจะมีบ่อกักเก็บน้ำสำหรับเก็บน้ำดื่ม ช่วงที่เกิดภัยพิบัติขึ้น น้ำทะเลไหลทะลักเข้ามาในที่กักเก็บน้ำเหล่านี้ทำให้ได้รับความเสียหาย เราซ่อมแซมที่เก็บน้ำในบางหมู่บ้านและติดตั้งที่กรองน้ำไว้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับประชากรในแถบนั้น ปัญหานี้พบในทุกหมู่บ้าน ชาวบ้านดื่มน้ำเมื่อฝนตก แม้ว่าจะเป็นฝนกรดก็ตาม เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก ที่กักเก็บน้ำที่ชาวพม่าในสิงคโปร์ซ่อมแซมให้ชาวบ้าน นั้นไม่เพียงพอ ในหมู่บ้านชื่อ Ywar Thu พบศพผู้เสียชีวิตและกระดูกมนุษย์ในที่กักเก็บน้ำ น้ำสำหรับกินดื่มอยู่ในสภาพที่แย่มาก

การสนับสนุนและช่วยเหลือ
ในบริเวณรอบๆโบกะเล องค์กร UN, WFP, MSF และ กลุ่ม Mon Myat ได้สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในขณะที่ผู้บริจาคกลุ่มอื่น ๆ มาถึงบริเวณพื้นที่ประสบภัยวันเว้นวัน ในบางหมู่บ้านได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มหน่วยงานครบทั้ง 8 กลุ่ม แต่ในขณะที่บางหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างไกลได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานเพียงแค่ 2 กลุ่ม โดยหากผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือเพียงพอแล้ว ผู้ประสบภัยเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องเดินทาง 3 ชั่วโมงเพื่อไปรับความช่วยเหลือทางด้านอาหารตามถนนสายหลักที่ผู้บริจาคเข้าถึงได้ง่าย ส่วนใหญ่ผู้ประสบภัยได้รับบริจาค ข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แผ่นผ้าใบ และอื่น ๆ บางครั้งองค์กรกาชาดสากลก็ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องยาด้วย

สถานการณ์ด้านสุขภาพของชาวบ้าน
ปัญหาสุขภาพหลักคือ อาการไอ ปัญหาเกี่ยวกับปอด การติดเชื้อและการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่เราจะพบอาการไอว่ามาจากการกินและดื่มน้ำมะพร้าว และมะพร้าว ก่อนที่กลุ่มองค์กรที่ให้การช่วยเหลือจะมาถึง อีกเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยก็คือการที่ชาวบ้านตากฝนเป็นเวลาหลายวันโดยที่ไม่มีหลังคาคลุมหัว ทำให้เป็นโรคปอดบวม นอกจากนี้ในหมู่บ้านเราพบเด็กกำพร้าจำนวนหลายคน

No comments: